หลายคนอาจเข้าใจว่า สนามบินดอนเมือง คือสนามบินแห่งแรกของประเทศ แต่ที่จริงแล้วก่อนสนามบินดอนเมืองจะก่อตั้งขึ้น มีสนามบินอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่เครื่องบินลำแรกได้ลงจอดยังพื้นดินของสยามประเทศเมื่อ 111 ปีที่แล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2446 ออวิลล์และวิลเบอร์ สองพี่น้องตระกูลไรต์ (Wilbur & Orville Wright) ได้ทดลองการบินด้วยเครื่องบินสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา
ถึงแม้ว่าจะเป็นการบินบนอากาศนานเพียง 12 วินาที แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางอันรวดเร็ว ที่เชื่อมต่อคนทั้งโลกให้เข้าถึงกันได้อย่างรวดเร็ว
8 ปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2454 เครื่องบินลำแรกก็ได้เหินฟ้ามาลงจอดยังประเทศสยาม โดยระหว่างวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 นายชาร์ลส์ แวน เดน บอร์น (Charles Van Den Born) นักบินชาวเบลเยียม ได้นำเครื่องแบบอังรีฟาร์มัง 4 (Henry Farman IV) เข้ามาแสดงการบินที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก โดยเครื่องบินลำนี้ถือเป็นลำแรกที่ได้ลงจอดบนแผ่นดินสยาม
การแสดงการบินครั้งนี้เกิดขึ้นโดยชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ร่วมกันวางแผนนำเครื่องบินมาจัดแสดง
อย่างไรก็ตาม แม้กรุงเทพฯ จะมีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ไม่มีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือภูเขาสูงชัน แต่สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ก็เป็นท้องนา ท้องร่อง มีน้ำท่วมขัง ไม่เหมาะแก่การขึ้นลงของเครื่องบิน
ถือเป็นโชคดีที่นาย Karl Offer ซึ่งเป็นผู้ประสานงานกับ Societe d’ Aviation Extreme Oriente ที่จะนำเครื่องบินมาสาธิตในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ เป็นสมาชิกของราชกรีฑาสโมสร (Royal Bangkok Sport Club) หรือสนามม้าสระปทุม เล็งเห็นว่าพื้นที่กลางลู่วิ่งของสนามม้านั้นเป็นลานเรียบ โล่งกว้าง ไม่มีสิ่งกีดขวาง และมีพื้นดินหนาแน่นมากพอจะรองรับน้ำหนักของเครื่องบินได้
ด้วยเหตุนี้ “สนามบินสระปทุม” สนามบินแห่งแรกของสยามจึงได้ถือกำเนิดขึ้น
การแสดงการบินครั้งแรกเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของคนในสมัยนั้น เพราะคนส่วนใหญ่เคยได้ยินเพียงเรื่องเล่าหรือเห็นภาพถ่ายคนที่บินได้เหมือนกับนก
การปรากฏตัวของเครื่องบินจริงๆ จึงเป็นที่กล่าวขวัญของคนหมู่มาก
เนื่องจากการแสดงการบินได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย ราชกรีฑาสโมสรจึงต้องเตรียมการเพื่อรับผู้ชมจำนวนมากที่ต้องการจะมาเข้าชมการแสดงในขณะนั้น
โดยเปิดทางเข้าใหม่ถึง 15 จุด สร้างสะพานใหม่ถึง 4 สะพาน เพื่อข้ามคูน้ำรอบสโมสร รวมถึงสร้างโรงจอดเครื่องบินชั่วคราวกลางสนามกอล์ฟอีกด้วย
การแสดงการบินครั้งแรกนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ (Bangkok Times) หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในสยาม เนื่องจากเย็นวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการบิน พร้อมด้วยราชวงศ์ และบุคคลสำคัญของประเทศอีกหลายคน
เช่น จเรการช่างทหารบก นายพลเอก เจ้าฟ้ากรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
นอกจากการแสดงการบินแล้ว ชาวสยามและชาวต่างชาติในประเทศสยามก็ยังได้มีโอกาสบินขึ้นฟ้าไปพร้อมกับนักบิน โดยต้องเสียค่าโดยสารคนละ 50 บาท โดยมีผู้โดยสารคนแรกเป็นชาวต่างชาติชื่อว่านาย F. Bopp
สำหรับผู้โดยสารชายชาวไทยคนแรกนั้นไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าคือนายพลเอก เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ เสนาธิการทหารบก หรือนายพลเอก กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน แต่ผู้โดยสารหญิงคนแรกคือพระชายา นายพลเอก เจ้าฟ้ากรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
หลังจากการแสดงการบินครั้งแรกนี้เอง ประเทศสยามจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการบิน และตระหนักถึงยุทธศาสตร์ใหม่ของการป้องกันประเทศ จึงได้ส่งนายทหารไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส พร้อมทั้งจัดหาเครื่องบินจำนวน 8 ลำ เพื่อใช้สำหรับกิจการการบินในประเทศ
นักบินชาวสยาม 3 คน ได้จบการศึกษาและทดลองบินต่อหน้าชาวสยามเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2456 โดยสถานที่จัดแสดง ยังคงเป็นสนามบินสระปทุมเช่นเดิม
หลังจากการบินในประเทศครั้งแรกผ่านไปได้ด้วยดี เมื่อผ่านไปได้ระยะหนึ่งสนามบินสระปทุมเริ่มคับแคบเกินกว่าจะรองรับกิจการการบินที่เติบโตขึ้น ทางกองทัพบกจึงได้วางแผนก่อสร้างสนามบินสำหรับใช้ทางการทหารโดยเฉพาะ ได้พิจารณาพื้นที่ที่กว้างขวาง ไม่มีน้ำท่วมถึง และอยู่ห่างพระนครพอสมควร
จนในที่สุดก็ได้พื้นบางส่วนของกรมรถไฟที่อยู่ห่างจากสนามบินสระปทุมไปทางทิศเหนือประมาณ 22 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตบางเขน ซึ่งเป็นที่ดอนเหมาะแก่การขึ้นลงของเครื่องบิน
โดยเที่ยวบินปฐมฤกษ์ได้ขึ้นบินเมื่อเช้าวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2457 ที่สนามบินสระปทุม และเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของสนามบินแห่งนี้ โดยได้ลงจอดเป็นเที่ยวบินแรกของสนามบินดอนเมือง
หลังจากนั้นในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2457 ได้มีการจัดตั้งกรมการบินทหารบกเข้ามาดูแลกิจการการบินของประเทศสยาม ซึ่งได้สร้างรากฐานอันมั่นคงให้กับกิจการการบินของประเทศ
ปัจจุบันสนามบินสระปทุมหรือราชกรีฑาสโมสร ยังคงตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่านราชดำริ มิได้สูญหายไปตามกาลเวลาเหมือนกับสถานที่อื่นๆ เพียงแต่ประวัติการใช้สถานที่นี้เป็นสนามบิน อาจไม่ได้เป็นเรื่องที่หลายคนได้รับรู้เท่านั้นเอง
Get involved!
Comments